มาร์ท ธนภูมิ #GenMentorJSD เมนเทอร์สายเทคฯ ผู้ปูทางผู้เรียนสู่อาชีพใหม่

จากความต้องการให้ผู้คนได้เข้าถึงการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลไทย ทำให้ คุณมาร์ท-ธนภูมิ บับพาน Backend Engineer ผู้มีประสบการณ์ในวงการกว่า 4 ปี อาสาเข้าร่วมเป็น #GenMentorJSD หรือเมนเทอร์อาสาสมัคร ในโครงการนักพัฒนาซอฟแวร์ (Junior Software Developer: JSD) ของเจเนเรชั่น ประเทศไทย

#GenMentorJSD อาสาสมัคร คือ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนในโครงการของเจเนเรชั่นให้มีทักษะที่พร้อมสำหรับการหางาน สมัครงาน และเข้าทำงานในสายอาชีพ ด้วยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จริงจากการทำงานของตนเอง เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในก้าวแรกของสายอาชีพใหม่ให้กับผู้เรียน โดย #GenMentorJSD เป็นส่วนสำคัญของโมเดล 7-Steps ของเจเนเรชั่น ที่เชื่อมโยงผู้เรียนกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นเครือข่ายทางอาชีพและทำให้การเข้าถึงโอกาสทางอาชีพสายเทคฯ ของผู้เรียนง่ายขึ้น

เส้นทางอาชีพสายเทคโนโลยี

คุณมาร์ทจบการศึกษาสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เริ่มอาชีพด้วยการเป็น Backend Engineer โดยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อทำงานครบ 3 ปี เขาจะต้องได้ไปทำงานในตำแหน่งดังกล่าวในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่ต่างประเทศ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น คุณมาร์ทได้พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีด้วยตัวเองมาอย่างต่อเนื่องและมุ่งหน้าสมัครงานในประเทศต่างๆ ทั้งโซนทวีปยุโรปและเอเชีย จนกระทั่งได้เข้าทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำแห่งหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่น

แม้จะจบการศึกษาจากสาขาเทคโนโลยีโดยตรง แต่คุณมาร์ทบอกว่าการเข้าสู่อาชีพสายเทคฯ ในบริษัทชั้นนำของประเทศ สำหรับคนที่เรียนจบจากสถาบันระดับรองอาจไม่ง่ายนัก เพราะเนื้อหาที่ได้เรียน มีทั้งรูปแบบที่เทียบเท่าและไม่เทียบเท่า นอกจากนั้นทรัพยากรและช่องทางการเข้าถึงที่มี ก็ไม่มากเทียบเท่าหากเทียบกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ ขณะที่คุณภาพด้านทักษะถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนสามารถเข้าถึงอาชีพสายเทคโนโลยีได้สำเร็จ

“ประเทศไทยอาจไม่ได้มีปัญหาเรื่องจำนวนคนสายเทคฯ แต่เรามีปัญหาเรื่องคุณภาพ ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือคนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบถึงช่องทางการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงอาชีพนี้ แต่หากเราสามารถผลิตคนให้มีคุณภาพและทักษะที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ก็ถือเป็นทางออกหนึ่ง ขณะบริษัทส่วนใหญ่ยังมองคุณสมบัติด้านการศึกษาเป็นหลัก จึงทำให้คนที่เรียนจบมาตรงสายอาจมีโอกาสมากกว่า จึงยังมีกำแพงสำหรับคนอยากข้ามสายงาน ดังนั้น คนที่อยากข้ามสายงานมาจะต้องมีทักษะใกล้เคียงกับงานที่ทำ”

“ผมอยากทำให้การเรียนรู้ด้านอาชีพเทคโนโลยีของคนทั่วไปง่ายขึ้น เพราะผมเรียนจบจากที่ที่มีแหล่งทรัพยากรจำกัด ส่วนตัวเป็นคนชอบศึกษาด้านเทคโนโลยีและเรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว พอเห็นการรับสมัครเมนเทอร์ในโครงการ JSD ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของตัวเองจึงมาสมัคร”

#GenMentorJSD ช่วยสร้างความมั่นใจตั้งแต่ ‘ก้าวแรก’

คุณมาร์ทเป็น #GenMentorJSD อาสาให้กับผู้เรียนในบูทแคมป์ JSD มาแล้วถึง 2 รุ่น โดยเมนเทอร์อาสาจะทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงของผู้เรียน คอยให้คำปรึกษาด้านการเรียนรู้ การหางานและการสมัครงานในสายเทคโนโลยี เช่น การให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนเรื่องการทำ CV และ Portfolio การเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน การทำโปรเจคและนำเสนอโปรเจค การสอบด้านเทคนิคเพื่อเข้าทำงาน เป็นต้น พร้อมแชร์ประสบการณ์การทำงานและการเติบโตในสายงานให้กับผู้เรียน เมนเทอร์หนึ่งคนจะดูแลผู้เรียนเป็นกลุ่มประมาณ 5-6 คน และต้องมีเวลาพบปะผู้เรียนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อเดือนหรือ 1.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พร้อมให้คำปรึกษากับผู้เรียนแต่ละคนได้แบบตัวต่อตัว (1-one-1) และทำงานร่วมกับทีมงานเจเนเรชั่นเพื่อดึงศักยภาพและสร้างกำลังใจให้กับผู้เรียนได้ก้าวสู่อาชีพใหม่ได้อย่างมั่นใจ

“เมนเทอร์ทุกคนเป็นอาสา เวลาและประสบการณ์ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน โครงการฯ จะมีกรอบการทำงาน (famework) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เรียนอยากจะได้รับการสนับสนุนมากที่สุดและเป็นสิ่งที่จะเพิ่มศักยภาพให้กับผู้เรียน แต่เมนเทอร์แต่ละคนสามารถทำเพิ่มเติมในรูปแบบของตัวเองได้”

“ในกลุ่มของผม ผมทำหน้าที่เป็น role playing ที่เป็น engineering manager ของทีม ทำโค้ชแบบ 1on1 คอยถามความก้าวหน้าและดูว่าผู้เรียนมีคำถามส่วนไหนที่ผมจะสนับสนุนได้ และได้ทำการฝึกสัมภาษณ์ (mock interview) เพื่อให้ผู้เรียนได้สัมผัสถึงบรรยากาศการสัมภาษณ์งานโดยตรงและให้เขาสะท้อนออกมาว่าเมื่อได้รับฟีดแบ็คแล้วแล้วจะไปพัฒนาในส่วนไหน เพราะผมอยากให้ผู้เรียนในกลุ่มผมได้สัมผัสความรู้สึกจริงเมื่อเขาได้เข้าไปทำงานในสายเทคฯ เพื่อให้เขามีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและมีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น”

#GenMentorJSD จะได้ทำงานร่วมกับผู้เรียนในโครงการฯเป็นเวลากว่า 3 เดือน ซึ่งคุณมาร์ทเล่าว่าการเป็นเมนเทอร์ในโครงการนี้มีความท้าทายเพราะผู้เรียนในโครงการ JSD ของเจเนเรชั่นมีความหลากหลายทั้งด้านบุคลิก (personality) ภูมิหลัง (background) และอายุของผู้เรียน ผู้เรียนกว่า 90% เป็นคนข้ามสายอาชีพและไม่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมาก่อน

“ผู้เรียนในโครงการฯมีความหลากหลาย เมนเทอร์จะต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกคน เราไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันได้ เมนเทอร์ควรมีความยืดหยุ่นเมื่อได้รับการร้องขอการสนับสนุนจากผู้เรียน และต้องสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ผมพยายามจัดการกลุ่มในลักษณะ flat organization คือเราไม่ได้ทำตัวเป็นเมนเทอร์ แต่เราคือ เพื่อน ที่ลงไปทำงานกับเขาและช่วยสนับสนุนเขาจากมุมมองของเรา”

คุณมาร์ทกล่าวว่าตัวเขาเองก็ได้ประโยช์จากการเป็นเมนเทอร์อาสาเพราะได้ฝึกทักษะการสื่อสารและการโค้ช โดยได้ฝากเทคนิคสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเมนเทอร์เพื่อพัฒนาอาชีพด้านเทคโนโลยีว่า “เมนเทอร์ควรดึงประสบการณ์ของตัวเองออกมาทั้งด้านบวกและด้านลบ และมองตัวเองในตำแหน่งที่ผู้เรียนยืนอยู่ และต้องพยายามหาเส้นทางที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจการทำงานสายเทคฯ ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เขาดึงจุดแข็งที่ดีที่สุดของตัวเองออกมาใช้ในการทำงานจริง”

ในทัศนคติของคุณมาร์ท เมนเทอร์มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการก้าวเข้าสู่การทำงานในสายเทคโนโลยี เนื่องจากงานด้านนี้ต้องอาศัยการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างสูง เพราะโลกของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและมีเรื่องให้เรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งหากคนที่พยายามพัฒนาความรู้ด้วยตัวเองแล้วแต่ไม่เข้าใจอาจจะมีประสบการณ์เชิงลบต่อการเรียนรู้และท้อถอยไปในที่สุด ขณะที่บางคนอาจไม่รู้ว่าตนเองจะเริ่มก้าวเข้าสู่โลกการทำงานได้จากจุดไหน แต่เมนเทอร์จะช่วยสนับสนุน สร้างความเข้าใจจากประสบการณ์จริง และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียนรู้เชิงบวกอย่างต่อเนื่องจนผู้เรียนประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ

“ผมอยากเป็นหนึ่งในคนที่ผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไทย เมื่อเรามีอายุงานมากขึ้น เราไม่ได้อยากเป็นตัวบวกต่อไปแล้ว แต่เราพยายามเป็นตัวคูณ เพื่อสร้าง impact ให้มากขึ้น นั่นคือเป้าหมายในปลายทางที่ผมตั้งใจส่งต่อความรู้และประสบการณ์ให้กับคนอื่น ๆ ได้เพื่อให้พวกเขามีเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) ได้ไกลและยั่งยืนมากขึ้น”