กลยุทธ์จ้างงานเน้น‘ทักษะ’ แก้วิกฤติขาดคนไอที ด้วย GenNX Model เจเนเรชั่น ผนึกกำลัง มจธ.

“การเปลี่ยนสายงานมาในวงการดิจิทัลทำให้การใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนไป เพราะเมื่อก่อนเราจะต้องเสี่ยงขับรถเพื่อไปส่งอาหาร ส่งของบนถนน ซึ่งโอกาสเกิดอุบัติเหตุมันเยอะ แต่พอได้ทำงานนี้ เรามีรายได้ดีขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน เราได้ใช้ชีวิตจริงๆ ในแบบที่เราอยากได้” เอษรา ปิยะชนกวงศ์ อดีตไรเดอร์ซึ่งปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Quality Assurance ของบริษัทไอทีแห่งหนึ่งเล่าถึงชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากได้พัฒนาทักษะการเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผ่านบูทแคมป์ Junior Software Developer — JSD ซึ่งจัดโดยเจเนเรชั่น ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และองค์กรพันธมิตร เพื่อพัฒนา ’ทักษะ’ ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับผู้ที่สนใจโดยไม่ต้องมีประสบการณ์หรือวุฒิการศึกษาด้านนี้มาก่อนและจับคู่ผู้เรียนกับนายจ้างเพื่อเข้าทำงานในสายอาชีพดิจิทัล

ในภาวะที่บุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขาดแคลนอย่างหนัก ‘กลยุทธ์การจ้างงานเน้นทักษะ’ หรือ ‘Skills-Based Hiring’ ที่ให้ความสำคัญกับ ‘ทักษะ’ ในตัวของผู้สมัครงานมากกว่า ‘วุฒิการศึกษา’ เป็นทางออกที่องค์กรใหญ่ระดับโลก เช่น Boeing, Walmart และ IBM เริ่มหันมาใช้โดยได้ยกเลิกข้อกำหนดด้านการศึกษาออกจากประกาศรับสมัครงาน ซึ่งบริษัท McKinsey & Company ที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของโลก ร่วมกับ Rework America Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มที่ช่วยให้พนักงานหลายล้านคนได้เปลี่ยนตำแหน่งที่มีค่าจ้างต่ำเข้าสู่ตำแหน่งที่ให้ค่าจ้างสูงกว่า ได้ร่วมทำการศึกษาพบว่า กลยุทธ์การจ้างงานเน้นทักษะช่วยให้บริษัทค้นหาและดึงดูดกลุ่มผู้มีความสามารถที่กว้างขึ้น สร้างโอกาสในการเข้าถึงการจ้างงานที่เท่าเทียม ซึ่งการจ้างงานแบบเน้นทักษะนี้สามารถคาดการณ์ผลการปฏิบัติงานได้มากกว่าการจ้างงานแบบเดิมถึง 5 เท่าและพนักงานมีแนวโน้มที่จะอยู่ในงานนานกว่าถึง 34%

จากการทำงานกว่า 18 เดือนของเจเนเรชั่น ประเทศไทย มีผลเชิงประจักษ์แล้วว่า การพัฒนาทักษะเฉพาะทางด้วยการฝึกอบรมระยะสั้นในรูปแบบบูทแคมป์และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพิจารณาให้ความสำคัญกับทักษะของผู้สมัครงานมากกว่าวุฒิการศึกษาหรือประสบการณ์ผ่าน ‘กลยุทธ์การจ้างงานเน้นทักษะ’ เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาการว่างงานและการขาดแคลนบุคลากรที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพ

“โครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ โดย GenNX Model” ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ได้เริ่มดำเนินการนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อการจ้างงานในบริบทของประเทศไทย ด้วยการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะเฉพาะด้านที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงานผ่านโมเดลเฉพาะขององค์กรเจเนเรชั่น มุ่งสร้างโอกาสงานด้านดิจิทัลให้กลุ่มคนว่างงาน ผู้มีความสามารถในการทำงานต่ำกว่าเกณฑ์ และนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา อย่างน้อย 225 คน ตลอดจนการฝึกอบรมวิทยากร (Trainer) ให้เชี่ยวชาญในการฝึกอบรมเพื่อการจ้างงานและขยายผลด้วยการถ่ายทอดโมเดลดังกล่าวให้กับสถาบันการศึกษา โดยเริ่มจากการพัฒนาทักษะอาชีพ ‘นักพัฒนาซอฟต์แวร์’ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดแรงงานเป็นอาชีพแรก

เจเนเรชั่น ประเทศไทย ผนึกกำลังกับสำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ลงนามสัญญาข้อตกลงความร่วมมือ (partnership agreement) ในฐานะพันธมิตรในการถอดองค์ความรู้เต็มรูปแบบ (delivery partner) ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ โดย GenNX Model เพื่อร่วมผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์คุณภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านบุคลากรให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลไทย พร้อมเดินหน้าจัดบูทแคมป์ Junior Software Developer รุ่นที่ 4 ซึ่งปัจจุบันมีผู้เรียนจำนวน 50 คนที่กำลังจะจบการศึกษาและพร้อมจับคู่กับสถานประกอบการเพื่อเข้าทำงานในตำแหน่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในเดือนพฤษภาคมนี้

ก้าวข้ามทุกอุปสรรคด้วย ‘กลยุทธ์การจ้างงานเน้นทักษะ’ ผ่าน GenNX โมเดล
ในปี 2565 ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศโดย GenNX โมเดล ในสายงานดิจิทัล ได้จัดโมเดล GenNX ขององค์กรเจเนเรชั่นคือ กระบวนการ 7 ขั้นตอน (7-Steps Model) ในพัฒนาทรัพยากรบุคคลผ่านการพัฒนาทักษะการทำงานในอาชีพที่เป็นที่ต้องการ ด้วยการฝึกอบรมเข้มข้นระยะสั้นด้วยหลักสูตรที่ผ่านการออกแบบและกำหนดทักษะเฉพาะร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ซึ่งผู้เรียนจะได้รับการฝึกอบรมทักษะเฉพาะทาง ทักษะชีวิตและทักษะในการหางานสมัครงาน และเจเนเรชั่นจะช่วยจับคู่ (matching) ระหว่างผู้ที่ต้องการหางานหรือผู้ว่างงานกับผู้ประกอบการเพื่อให้ได้บุคลากรคุณภาพ ตลอดจนการทำให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของ ‘กลยุทธ์การจ้างงานเน้นทักษะ (‘Skills-Based Hiring’)’ และนำไปปฏิบัติ

คุณภัทรเสฏฐ หนุนภักดี ตัวแทนองค์กร Thailand Country Team Lead LinkedIn กล่าวว่า “Skill based hiring เป็น Trend ที่เกิดขึ้นในตลาดงานทั่วโลกและเริ่มเป็นที่สนใจขององค์กรต่างๆ ในการคัดสรรบุคลากร วันนี้การพัฒนา Skill เฉพาะทางเพื่อรองรับ Demand ขององค์กร เช่น Bootcamp ทีองค์กร อย่างเจเนเรชั่น ทำเป็นตัวอย่างที่สำคัญในเรื่องของ Skill based hiring ที่สร้างงานให้คนในหลากหลายกลุ่ม”

หลักสูตรบูทแคมป์ Junior Software Developer — JSD ประสบความสำเร็จในการผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์แล้วจำนวน 3 รุ่น กว่า 80% ของผู้เรียนเป็นผู้ย้ายสายอาชีพและไม่มีประสบการณ์ด้านไอทีมาก่อน เช่น เลขานุการ ผู้ประสานงาน นักกฎหมาย เป็นต้น โดยมีผู้จบการศึกษาแล้วจำนวน 140 คน ได้เข้าทำงานแล้ว ในบริษัทกว่า 50 แห่งในอุตสาหกรรมต่างๆ และผู้เรียนมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เท่าหลังจากเข้าร่วมโครงการฯ และส่วนใหญ่สะท้อนว่าการพัฒนาทักษะเฉพาะทางและได้งานในสายดิจิทัลนี้ทำให้พวกเขาก้าวข้ามอุปสรรคด้านการศึกษาและประสบการณ์ที่มักเป็นข้อกำหนดในการจ้างงานแบบเดิมและมีโอกาสเข้าถึงอาชีพใหม่ๆที่สอดคล้องกับความต้องการและได้ค่าจ้างที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้มากขึ้น

องค์กรผู้นำคว้าโอกาสในการจ้างงานแบบเน้นทักษะเปิดโอกาสธุรกิจและการทำงานให้คนข้ามสายแบบไม่ดูโปรไฟล์
จากความสำเร็จใน 3 รุ่นแรกปัจจุบันบริษัทพันธมิตรของเจเนเรชั่นได้เริ่มออกค่าใช้จ่ายในรูปแบบค่าสนับสนุนโครงการรับผู้เรียนข้าทำงาน (placement fee) โดยแต่ละองค์กรให้การสนับสนุนตามตำแหน่งที่สนใจ และจำนวนผู้เรียนที่สนใจ เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของโมเดลการทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและการศึกษาให้แก้ไขการจ้างงาน

คุณเด่นชัย เพชรชมรัตน์ Head of People จากบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ระบุว่า “ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง (Highly-skilled labour) เป็นหนึ่งในปัญหาที่พวกเรามักจะได้ยินบ่อยๆในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุนี้ทำให้ธุรกิจต้องพยายามอย่างมากในการรักษาแรงงานที่มีทักษะในปัจจุบัน และมองหากลยุทธ์ที่จะดึงดูดแรงงานที่มีคุณสมบัติตามต้องการ (Qualified Worker) ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัท ยังสามารถแข่งขันกับตลาดได้”

คุณอุราภรณ์ เอียดการ HR Director จาก บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC กล่าวว่า “สาเหตุที่เราจับมือร่วมกับโมเดล GenNX เพราะเราต้องการสนับสนุนการจ้างงาน โดยดูที่ทักษะ ศักยภาพ และไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ด้านไอทีมาก่อนและแก้ปัญหาให้กับองค์กรในเรื่องของการขาดแคลนทรัพยากร เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อได้ไม่สะดุด ผ่านการลดเวลาในกระบวนการสรรหาลดต้นทุนในการจ้างและบริษัทสามารถรักษาคนเหล่านี้ไว้เป็นทรัพยากรที่มีค่าขององค์กรในระยะยาวซึ่งถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการเองต้องปรับแนวคิดและพิจารณาการรับคนด้วยทักษะและความสามารถ”

เจเนเรชั่น จับมือ มจธ. ขยายผลการพลิกโฉมระบบการศึกษาเพื่อการจ้างงาน
การสร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเพื่อการจ้างงานและการถ่ายทอดโมเดล GenNX สู่สถาบันการศึกษา เป็นอีกสองเป้าหมายที่สำคัญของโครงการฯ โดยเจเนเรชั่น ประเทศไทย ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยสำนักเคเอกซ์ เพื่อทำงานถ่ายทอดองค์ความรู้ในทุกกระบวนการทำงาน ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรและผู้สอน การสรรหาและดูแลผู้เรียน การทำงานร่วมกับสถานประกอบการหรือนายจ้าง การทำการตลาดเพื่อหากลุ่มผู้เรียนเป้าหมาย ตลอดจนการเข้าถึงแพลทฟอร์มด้านเทคโนโลยีของเจเนเรชั่น โดยเคเอกซ์ได้สังเกตการณ์การทำงานของเจเนเรชั่นมานับตั้งแต่บูทแคมป์รุ่นที่ 3 และทำงานร่วมกันอย่างเต็มรูปแบบในบูทแคมป์รุ่นที่ 4 เพื่อให้สำนักเคเอกซ์ สามารถจัดบูทแคมป์ในรุ่นต่อไปได้ด้วยตนเองและพร้อมเป็นต้นแบบให้กับสถาบันสังเกตการณ์ (Observer Partner) และสถาบันการศึกษาอื่นในอนาคต

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า “การเป็นพันธมิตรในโครงการนี้สอดคล้องกับพันธกิจหลักของ มจธ. ในการสร้างคุณค่าด้านบุคลากรของประเทศ ด้วยการผลิตกำลังคนด้านเทคโนโลยีที่มีทักษะและความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ร่วมเรียนรู้โมเดลการศึกษา การจ้างงาน และแนวคิดกลยุทธ์การจ้างงานแบบเน้นทักษะ ที่เป็นนวัตกรรมที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในกว่า 17 ประเทศทั่วโลกมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย โดย มจธ.จะร่วมเป็นกำลังหลักในการขยายผลสู่สถาบันการศึกษาอื่นๆ รวมถึงการขยายสาขาทักษะงานและจำนวนผู้เรียนในอนาคต ดังนั้นเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับเจเนเรชั่น ประเทศไทย เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อมหาวิทยาลัย และสังคมไทยต่อไป”

ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอกซ์ กล่าวว่า “สำนักเคเอกซ์ มจธ. มุ่งสร้างเสริมผู้ประกอบการไทยผ่านกระบวนการนวัตกรรม ให้มีความเข้มแข็งในทุกๆมิติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการผลิตบุคลากรคุณภาพสูงที่มีความรู้และทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อความต้องการของอุตสาหกรรมนั้นเป็นมิติที่สำคัญที่จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ความร่วมมือระหว่าง มจธ. โดยสำนักเคเอกซ์ และเจเนเรชั่น ประเทศไทย ในครั้งนี้จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ เคเอกซ์จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้โมเดล GenNX และจะทำหน้าที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ผ่านแผนงานขยายผลในการถ่ายโอนความรู้นี้ให้กับองค์กรที่สนใจหรือองค์กรภาคการศึกษา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและภาคการศึกษาสามารถเสริมความแข็งแร่งให้กับผู้ประกอบการได้ทันเวลายิ่งขึ้น”

คุณปุณยนุช พัธโนทัย ซีอีโอ เจเนเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า “เจเนเรชั่น ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับสำนักเคเอกซ์ มจธ. เพื่อถ่ายทอดโมเดล GenNX โดยในระยะแรกเจเนเรชั่นเป็นผู้ดำเนินการด้วยการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน จากนั้นเรามุ่งสู่การขยายผลเพื่อให้องค์กรหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆสามารถสร้างหลักสูตรที่ใช้กระบวนการของเจเนเรชั่นได้โดยมีเป้าหมายในการขยายจำนวนผู้เรียนเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการจ้างงาน การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าใจกลยุทธ์การจ้างงานเน้นทักษะและสาขาทักษะงาน เพราะระบบการศึกษาและระบบการจ้างงานเป็น 2 กลไกที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศในด้านการว่างงานและการขาดแคลนแรงงานได้อย่างยั่งยืน ”

เชื่อมต่อ ‘ภาคการศึกษา’ กับ ‘ภาคธุรกิจ’ ด้วย ‘การพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงาน’
‘กลยุทธ์การจ้างงานเน้นทักษะ (skill-based hiring)’ คือหนทางการแก้ไขวิกฤติการขาดแคลนคนไอทีเมื่อแม่พิมพ์การศึกษาแบบเดิมไม่สามารถผลิตบัณฑิตออกมาได้ตรงตามความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกต่อไป การขยายความเข้าใจตระหนักรู้ในกลุ่มองค์กรผู้ว่าจ้างจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน และต้องอาศัยพันธมิตรในการปรับความเข้าใจ ทำการประชาสัมพันธ์ ให้นายจ้างเปิดมุมมองร่วมกันเข้ามาแก้ปัญหา และปรับเปลี่ยนวงการการจ้างงานผ่านการทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม และ community คนหางานในสายเทคโนโลยี เพื่อปรับมุมมองการจ้างงานคนข้ามสาย

เจเนเรชั่น และสำนักเคเอกซ์ มจธ.จึงมีเป้าหมายร่วมกันในการดึงดูดให้ภาคธุรกิจมาร่วมแลกเปลี่ยนความต้องการเฉพาะด้านและเรียนรู้ถึงความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ภาคการศึกษาเข้าใจและผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้ใกล้ชิดขึ้น โดยพัฒนาแผนงานขยายผลถ่ายทอดความรู้และกระบวนการศึกษาเพื่อการจ้างงานตามโมเดล GenNX นี้ให้กับสถาบันการศึกษาและองค์กรภาคธุรกิจที่สนใจจะผลิตบุคลากรคุณภาพจำนวนมากในเวลาอันสั้น ได้มีโอกาสร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมทักษะสาขาอาชีพใหม่ๆที่ตอบโจทย์เฉพาะ และทำงานในรูปแบบของเจเนเรชั่นได้ด้วยตนเอง

คุณปุณยนุช พัธโนทัย ซีอีโอ เจเนเรชั่น ประเทศไทย เสริมว่า เจเนเรชั่น ยังมีหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรสำหรับอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลกอีกกว่า 29 อาชีพใน 4 ภาคส่วน เช่น วิศวกรสนับสนุนระบบคลาวด์ นักวิเคราะห์และวิศวกรข้อมูล นักการตลาดดิจิทัล ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานขายดูแลลูกค้าองค์กร เป็นต้น โดยเจเนเรชั่นพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้และกระบวนการทำงานในรูปแบบของเราเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ และขยายโอกาสให้กับผู้หางานในอนาคต”

สำหรับ “โครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ โดย GenNX Model” นั้น ตอนนี้อยู่ในกระบวนการหารือในการต่อยอดขยายผลกับผู้สนับสนุนจาก สป.อว. และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย นาย พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้าโครงการ ‘GenNX Model’ และเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังของแนวคิดโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) กล่าวว่า “สป.อว.มุ่งเตรียมฐานกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โครงการ GenNX Model ได้นำนวัตกรรมที่พัฒนาระบบการเรียนการสอนในเชิงโครงสร้างเพื่อผลิตกำลังคนที่มีทักษะตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายมาใช้ในบริบทของประเทศไทย ซึ่งการถอดบทเรียนและผลสำเร็จจากโครงการ GenNX Model นี้ เป็นหนึ่งในกลไกการเชื่อมโยงภาคการศึกษาและภาคเอกชน และเป็นการต่อยอดให้กับมหาวิทยาลัยในประเทศที่สนใจจะเรียนรู้กระบวนการปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการเรียนการสอนในภาคการศึกษาให้แตกต่างและตอบโจทย์เพื่อผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของตลาดได้ตรงจุดและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสายเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น”

องค์กรภาคธุรกิจหรือสถาบันการศึกษาใดสนใจการทำงานพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานผ่านโมเดล GenNX สามารถติดต่อเจเนเรชั่น ประเทศไทยได้ที่ contact-th@generation.org และ thailand.generation.org